นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

นโยบายพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มซาคาอิ เคมิคอล

          กลุ่มซาคาอิ เคมิคอล ดำเนินกิจการเพื่อสนับสนุนการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดีของคนในสังคมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กร  หลักปรัชญาบริหารที่ว่า “สร้างอนาคตที่เป็นมิตรด้วยเคมี” ของ Sakai Chemical Industry Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มซาคาอิ เคมิคอลนั้นแสดงถึงการคำนึงถึงผู้คนในสังคมของกลุ่มซาคาอิ เคมิคอล ซึ่งการที่จะทำให้ปรัชญานี้เกิดขึ้นได้จริง กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลเห็นว่าการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกคนในทุกประเทศและภูมิภาคที่กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลดำเนินกิจการอยู่ เป็นเรื่องที่สำคัญ

          นโยบายพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ เป็นคำมั่นสัญญาของกลุ่มซาคาอิ เคมิคอลว่าจะรับผิดชอบให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปรัชญาบริหารและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ

  1. หลักปรัชญาพื้นฐาน
    กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลจะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งบังคับใช้อยู่ในประเทศและภูมิภาคที่กลุ่มซาคาอิ เคมิคอล ดำเนินกิจการอยู่            และจะสนับสนุนและให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วย “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (กติกาด้านสิทธิเสรีภาพ)” “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (กติกาด้านสิทธิสังคม)” เป็นต้น และบรรทัดฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น “ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ” ซึ่งกำหนดเรื่องเสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง การห้ามการเกณฑ์แรงงานบังคับ  การเลิกใช้แรงงานเด็กอย่างมีประสิทธิผล การกำจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ เป็นต้น  อีกทั้งจะดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนตาม “หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP)
  1. ขอบเขตการนำไปใช้
    นโยบายพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ใช้กับผู้บริหารและพนักงานทุกคนของกลุ่มซาคาอิ เคมิคอล (รวมถึงพนักงานทุกประเภท เช่น พนักงานตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา พนักงานตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา พนักงานที่จ้างใหม่หลังเกษียณอายุ พนักงานจ้างเหมาแรงงาน พนักงานชั่วคราว พนักงานที่จ้างงานไม่เต็มเวลา เป็นต้น) นอกจากนี้  กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลจะพยายามรณรงค์ให้คู่ค้าทางธุรกิจทุกรายของกลุ่มซาคาอิ เคมิคอล ทำความเข้าใจและปฏิบัติตามนโยบายพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับนี้อีกด้วย
  1. การตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence)
    กลุ่มซาคาอิ เคมิคอล จะสร้างกลไกการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนและการตรวจพบผลกระทบในเชิงลบเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อีกทั้ง จะพยายามป้องกันมิให้เกิดผลกระทบดังกล่าว หรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบดังกล่าวอีกด้วย
  1. การสร้างระบบการเยียวยา
    กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลจะสร้างกลไกให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องสามารถแจ้งเบาะแสข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้  และกรณีที่พบว่ามีผลกระทบในเชิงลบเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผลกระทบดังกล่าว กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลจะพยายามบรรเทาผลกระทบในเชิงลบดังกล่าว โดยร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
  1. การสนทนาสื่อสาร
    กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลรู้ว่าการสนทนาสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะตรวจพบผลกระทบในเชิงลบเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และจะพยายามสนทนาสื่อสารในเวลาที่เหมาะสมเพื่อความเข้าใจในปัญหาสิทธิมนุษยชน การบรรเทาหรือการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
  1. การฝึกอบรมพนักงาน
    กลุ่มซาคาอิ เคมิคอล จะดำเนินการฝึกอบรมที่จำเป็นให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีการรับรู้นโยบายพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับนี้อย่างทั่วถึงในกลุ่มซาคาอิ เคมิคอล และทำให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนเข้าใจถึงสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้องพร้อมทั้งสามารถนำมาปฏิบัติในกิจการได้อย่างมีประสิทธิผล
  1. การเปิดเผยข้อมูล
    กลุ่มซาคาอิ เคมิคอลจะเปิดเผยข้อมูลการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ผ่านทางเว็บไชต์และเอกสารรายงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

นโยบายพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของ Sakai Chemical Industry Co., Ltd. เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565